ธุรกิจ/อุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญการท้าทายทั้งภายในและภายนอก
คงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การประกอบธุรกิจ/อุตสาหกรรมในประเทศไทยทุกวันนี้ มันไม่ง่ายเลย
อย่างน้อยก็ไม่ง่ายเหมือนกับ 5 - 10 ปีก่อน มาแล้ว มีแรงบีบ แรงกดดัน ปัญหา อุปสรรค สารพัดอย่าง
ทั้งจากภายในประเทศ และจากการแข่งขันระหว่างประเทศ บางกรณีเขาก็เข้ามาแข่ง มาแย่ง มาชิง
ส่วนแบ่งการตลาด ถึงในบ้านเราเลยทีเดียว ถ้าพูดในเชิงบวกก็คงกล่าวว่า ธุรกิจ/อุตสาหกรรมในไทย
ปัจจุบันต้องมีการเผชิญความท้าทายรอบด้าน เพื่อที่จะอยู่รอด มีกำไร พร้อมเป็นกำลังให้กับสังคมไทยในปัจจุบันเพื่อเป็นการพัฒนาไปสู่อนาคต
ชะตาของธุรกิจ/อุตสาหกรรมกับชะตาของสังคมเป็นของคู่กัน
ธุรกิจ/อุตสาหกรรม เป็นเหมือน "ครัว" ของสังคม ในขณะที่ "เกษตรกรรม" เปรียบเสมือน "ไร่นา"
ครอบครัวต้องมีทั้ง "ไร่นา" และ "ครัว" สังคมก็ต้องมีทั้ง "เกษตรกรรม" และ "ธุรกิจ/อุตสาหกรรม"
ฉะนั้นแล้ว ชะตาของ ธุรกิจ/อุตสาหกรรม กับชะตาของสังคม จึงเป็นของคู่กัน เป็นเรื่องเดียวกัน
ดีด้วยกัน เสื่อมด้วยกัน
ถ้า ธุรกิจ/อุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรือง สังคมก็จะได้รับผลดี ธุรกิจ/อุตสาหกรรมลำบาก สังคมก็ย่อมได้รับผลกระทบ ดังเช่นในขณะนี้ ในทางกลับกัน สังคมที่ลำบาก สังคมที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการเมืองการปกครอง ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ย่อมไม่เอื้ออำนวยให้ ธุรกิจ/อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าและมั่นคงยั่งยืนได้ เว้นแต่นักธุรกิจ/อุตสาหกรรม ผู้ฉวยโอกาสและขาดความรับผิดชอบบางคนที่อาจหากำไรจากความเดือดร้อนยากลำบากของผู้อื่น เช่นคนที่ค้ากำไรยามสงคราม เป็นต้น หรืออาจเป็นธุรกิจที่มีความสุจริตถูกต้อง เช่น ผลิตหรือขายอุปกรณ์บรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ทำให้ได้กำไรดี แต่ก็ไม่น่าภาคภูมิใจอย่างแท้จริง เมื่อคำนึงว่า ได้จากความลำบากของผู้อื่น และเป็นความลำบากที่สังคมหรือมนุษย์ร่วมกันสร้างเหตุขึ้นเอง และในระยะยาว
ธุรกิจ/อุตสาหกรรมเช่นนี้ ก็ไม่ควรจะยั่งยืน เพราะสังคมควรจะพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
ที่ต้นเหตุมากกว่าการมาแก้หรือบรรเทาที่ปลายเหตุ
สังคมไทยมีสองส่วน คือส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งควรอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล
เมื่อพูดถึงสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมของประเทศกำลังพัฒนา คงต้องกล่าวว่าเรายังเป็นสังคมที่มีสองส่วน
คือส่วนบนและส่วนล่าง
ส่วนบน ได้แก่ คนชั้นกลาง ผู้มีอันจะกิน นักธุรกิจ/อุตสาหกรรม นักวิชาชีพ นักการเมือง ข้าราชการ
พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่บริษัท เป็นต้น
ส่วนล่าง ประกอบด้วย เกษตรกรส่วนใหญ่ ผู้ใช้แรงงาน คนยากจน ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย ถ้านับจำนวนคน ก็อาจประมาณได้ว่า ครึ่งต่อครึ่ง สัดส่วนจะเป็นเท่าไหร่แน่ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ว่า สังคมที่ยังแบ่งได้เป็นสองส่วนเช่นนี้ ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และ ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง
ส่วนทั้งสอง และหาทางทำให้ทั้งสองส่วนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งนำไปส่วนการเป็น "สังคมเข้มแข็งมั่นคง" ด้วยกัน
ธุรกิจ/อุตสหกรรมโดยเฉพาะในภูมิภาคมีปฏิสัมพันธ์สูงกับสังคมส่วนล่างอยู่แล้ว
สำหรับธุรกิจ/อุตสหกรรมโดยทั่วไป ถ้าถือว่าเป็น "พลเมือง" ของสังคม ก็ต้องนับอยู่ในสังคมส่วนบน แต่ขณะเดียวกันก็มักมีปฏิสัมพันธ์สูงกับสังคมส่วนล่าง เช่น จ้างแรงงานจากสังคมส่วนล่าง รับซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากคนในสังคมส่วนล่าง จ้างเหมางานบางส่วนให้คนในสังคมส่วนล่าง ขายสินค้าหรือบริการให้คนในสังคมส่วนล่าง เป็นต้น ยิ่งขยายคำว่า "คนในสังคมส่วนล่าง" ให้รวมถึง "ครอบครัวด้วย"
ก็จะเห็นว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ/อุตสาหกรรมกับคนในสังคมส่วนล่างนั้น มีมากมาย ลึกซึ้ง กว้างขวาง และมีความหมายมาก ทำให้ควรคิดต่อไปว่า ระหว่าง "ธุรกิจ/อุตสาหกรรม" กับ "คนในสังคมส่วนล่าง" ควรเกื้อกูลกันอย่างไร จึงจะช่วยให้เกิดความเจริญมั่นคงอย่างยั่งยืน
คนในสังคมส่วนล่างส่วนใหญ่อยู่ในชนบทและในชุมชนแออัดในเมือง
คนในสังคมส่วนล่าง ส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศ จำนวนมากเป็นเกษตรกร หรือเป็นครอบครัวเกษตรกรอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ในชนบท แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย รับจ้างใช้แรงงาน หรือค้าขาย หรือให้บริการเล็กๆน้อยๆ ทั้งในชนบท ในเมืองขนาดเล็ก ในเมืองขนาดกลาง และในเมืองขนาดใหญ่ รวมถึงในกรุงเทพมหานคร ในกรุงเทพมหานครและเมืองขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง เช่น ในเขตเทศบาลเชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี อยุธยา นครสีธรรมราช ภูเก็ต จะมีชุมชนแออัดอยู่มากบ้างน้อยบ้าง มากที่สุดคือในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชุมชนแออัดอยู่ประมาณ 1,200 แห่ง มีประชากรรวมกันอยู่ประมาณ 1,000,000 คน ส่วนชุมชนแออัดที่กระจายอยู่เมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมแล้วมีอีกประมาณ 1,000 แห่ง คิดเป็นจำนวนประชากรอีกประมาณ 1,000,000 คน
คนในสังคมส่วนล่างกำลังมีความพยายามพึ่งตนเองและพัฒนาตนเองให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนแออัดในเมือง หรือคนในชุมชน/หมู่บ้านชนบท ต่างได้มีความตื่นตัวในอันที่จะพัฒนาตนเองและพึ่งตนเองมากขึ้น เช่นมีการวางแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง มีการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน หรือธุรกิจชุมชนในรูปแบบต่างๆ มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ธนาคารสัจจะออมรายวัน กลุ่มและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
รวมแล้วประมาณ 30,000 แห่งทั่วประเทศ มีเงินออมรวมกันประมาณ 10,000 ล้านบาท นี้มิได้นับรวม
"กองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง" (กองทุนละ 1 ล้านบาท) ที่รัฐบาลให้เงินไปตั้งในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง
รวมประมาณ 73,000 กองทุน มีเงินหมุนเวียนประมาณ 73,000 ล้านบาท
สรุปได้ว่า ชุมชนท้องถิ่น ทั้งในชนบทและในเมือง ล้วนมีศักยภาพและความตั้งใจในการพัฒนาตนเอง
รวมถึงการพัฒนาท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ จึงเป็นสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจ/อุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในท้องถิ่นหรือไกล้เคียง พิจารณาเพิ่มบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นให้มากขึ้น
หลากหลายวิธีการที่ธุรกิจ/อุตสาหกรรม จะมีส่วนช่วยพัฒนาท้องถิ่น
การเพิ่มบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น โดยผู้ประกอบธุรกิจ/อุตสาหกรรม สามารถทำได้ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือทำหลายๆ รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. ทำให้การดำเนินงานของธุรกิจ/อุตสาหกรรม นั้นๆ มีครบทั้ง คุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ ถ้าทำได้ดังนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็ถือว่าเป็นพลเมืองดีที่ได้ทำประโยชน์ตามบทบาทหน้าที่ของตนอย่างพึงพอใจแล้ว แต่ถ้าสามารถทำมากกว่านั้นแน่นอน ย่อมเกิดประโยชน์และน่ายกย่องสรรเสริญมากขึ้นไปอีก
2. หารือกับตัวแทนของกลุ่มคนต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อค้นหาลู่ทางในการสร้างสรรค์ประโยชน์ร่วมกันโดยทุกฝ่ายพอใจ การสร้างสรรค์ประโยชน์ร่วมกันย่อมมีดี หลายวิธี ถ้าได้ปรึกษาหารือกัน น่าจะทำให้เห็นลู่ทางอันหลากหลายได้ไม่ยากนัก วิธีการเหล่านี้คงจะรวมถึงการขยายโอกาสการจ้างงาน การพัฒนาเงื่อนไขการจ้างงานให้ดีกับทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้าง ฝ่ายผู้รับจ้าง และดีกับสังคมโดยรวม
การรับซื้อสินค้า/บริการจากภายในท้องถิ่น การทำสัญญาร่วมงาน/รวมธุรกิจกับคนในท้องถิ่น การร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าในท้องถิ่น เป็นต้น
3. บริจาคเงินสิ่งของที่ช่วยเหลือ/สนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในท้องถิ่น วิธีนี้เป็นวิธีปกติที่ทำกันโดยทั่วไป และยังควรทำกันต่อไป ตามกำลังความสามารถ/ความศรัทธา ของธุรกิจ/อุตสาหกรรม แต่ละแห่ง หรืออาจตั้งเป็น "กองทุน" หรือ "มูลนิธิ" ในสังกัดของ ธุรกิจ/อุตสาหกรรมผู้เป็นเจ้าของเงินก็ได้
แล้วใช้เงินจากกองทุน/อุตสาหกรรมผู้เป็นเจ้าของเงินก็ได้ แล้วใช้เงินจากกองทุน/มูลนิธิดังกล่าวในการสนับสนุนกิจกรรมในท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง วิธีนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Corporate philanthropy" และถ้าตั้งเป็นมูลนิธิในสังกัดของธุรกิจ/อุตสาหกรรม ก็เรียกว่า "Coporate foundation"
4. ร่วมกับหลายๆ ฝ่ายในท้องถิ่นตั้งเป็น "มูลนิธิเพื่อท้องถิ่น" (Community foundation) เพื่อระดมทุนมา
สนับสนุนกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง "มูลนิธิเพื่อท้องถิ่น" (Community foundation) จะเป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในท้องถิ่นหรือมีความผูกพันอย่างไดอย่างหนึ่งกับท้องถิ่น ร่วมมือกันหลายฝ่ายในการจัดตั้ง ในการบริหาร ในการระดมทุน ในการกำกับดูแล ติดตามและประเมินผล และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทุนที่ได้มาจะนำมาใช้ส่วนหนึ่ง และเก็บเป็นกองทุนสะสม (Endowment fund) อีกส่วนหนึ่งเพื่อจะได้มีทุนต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน และในการสนับสนุนกิจกรรมในท้องถิ่น ควรมีความหลากหลายตามสถานการณ์ ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นแต่ละแห่ง
5. จัดให้มี "กิจกรรมอาสาสมัครเพื่อท้องถิ่น" ในหมู่ผู้บริหารและพนักงานของธุรกิจ/อุตสาหกรรม แต่ละแห่งตามความสมัครใจ ประจวบกับรัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2545 เป็น "ปีแห่งการพัฒนางานอาสาสมัครไทย" ตามติคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นปี จึงเป็นการเหมาะสมที่ ธุรกิจ/อุตสาหกรรม ต่างๆ จะสนองนโยบายที่ดีเช่นนี้ของรัฐบาล พร้อมกับทำในสิ่งที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง ซึ่งธุรกิจ/อุตสาหกรรม หลายแห่งอาจทำอยู่บ้างแล้ว การเป็นอาสาสมัครไปทำประโยชน์ในท้องถิ่นหรือส่วนรวมจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าชื่นใจ
ทั้งต่อผู้เป็นอาสาสมัคร ต่อชุมชนท้องถิ่น และต่อธุรกิจ/อุตสหกรรม ที่อาสาสมัครสังกัดอยู่ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็ต้องเรียกว่าเป็น "Win-Win" คือ ทุกฝ่าย "ชนะ" หรือได้ประโยชน์นั่นเอง
สมาคม/สมาพันธ์ของธุรกิจ/อุตสาหกรรมสามารถช่วยส่งเสริมสนับสนุนเรื่องทั้งหมดนี้ได้มาก
การส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจ/อุตสาหกรรม ให้มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น
และดียิ่งขึ้น หน้าจะเป็นหน้าที่หนึ่งของสมาคม/สมาพันธ์ของธุรกิจ/อุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งย่อมรวมถึงหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยสามสถาบันหลักที่รับหน้าที่เป็นตัวแทนภาคธุรกิจในการประชุมหารือกับรัฐบาลภายใต้ระบบ กรอ. ดังเป็นที่ทราบกันอยู่เพื่อการนี้
แต่ละสถาบันอาจตั้งเป็น "โครงการ" ขึ้น โดยมีตัวแทนสมาชิกมาร่วมกันบริหาร จะได้มีความจริงจัง
ต่อเนื่อง และยั่งยืน อาจใช้ชื่อว่า "โครงการธุรกิจเพื่อสังคมไทย" "โครงการอุตสาหกรรมไทยรักถิ่น"
"โครงการธนาคารเพื่อท้องถิ่นไทย" หรืออะไรทำนองนี้ เป็นต้น
Credit By : http://www.thaingo.org/story/book_021.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น